โครงการสงขลาสู่เมืองสร้างสรรค์ UNESCO : Songkhla Creative City Initiative
“สงขลาสร้างสรรค์ครอบคลุมและยั่งยืน Towards an inclusive and sustainable city”
จังหวัดสงขลา เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคใต้ตอนล่าง ที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของภาคใต้ พื้นที่ติดกับทะเลอ่าวไทย จึงเป็นเมืองท่าและจุดศูนย์กลางในการติดต่อการค้าในอดีต ส่งผลให้เมืองสงขลา มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก ตลอดจนมีความหลากหลายจากผู้คนชนชาติต่าง ๆ ที่เข้ามาแวะเวียนและตั้งรกรากอาศัย มีทั้งชาวไทยพุทธ ชาวไทยเชื้อสายจีน ชาวไทยเชื้อสายมลายู การอาศัยอยู่ร่วมกันจึงเกิดเป็นการหล่อหลอมทางวัฒนธรรม กลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่ถูกถ่ายทอดมาจนถึงปัจจุบัน เห็นได้จากโบราณสถานชุมชนเมืองเก่า และอาคารดั้งเดิม
อีกทั้งยังเป็นเมืองที่มีความโดดเด่นเป็นหนึ่งเดียวในประเทศ คือ เป็นเมือง 2 ทะเล มีทั้งทะเลสาบสงขลา 3 น้ำ คือ น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม และทะเลฝั่งอ่าวไทย มีภูมินิเวศแบบโหนด-นา-เล คือ ต้นตาล ท้องนา และทะเล เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ก่อให้เกิดวัตถุดิบในการทำอาหารที่หลากหลายทำให้กลายเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของเมืองสงขลาจนถึงปัจจุบัน และมีกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่หลากหลายมีศักยภาพและมีความโดดเด่นในการขับเคลื่อนเมือง
มีโครงสร้างพื้นฐานและวัฒนธรรมที่ผสมผสานของ ความหลากหลายที่สะท้อนเอกลักษณ์และภาพลักษณ์ของเมือง นำไปสู่ความคิดริเริ่มในการผลักดันเมืองสงขลาเข้าสู่เมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดสงขลา เกิดการพัฒนาของเมืองและส่งเสริมการท่องเที่ยวของเมืองอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นด้านวัฒนธรรมอาหารพื้นถิ่น เพื่อยกระดับอาหารของพื้นเมืองสงขลาสู่ความเป็นสากลที่น่าสนใจ
ดังนั้น องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีบทบาทหน้าที่ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 และแก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2562 และกฎกระทรวง (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 กำหนดกิจการที่ราชการส่วนท้องถิ่นอื่นสมควรให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดร่วมดำเนินการหรือให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดจัดทำ (16) ส่งเสริมการท่องเที่ยว และตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 มาตรา 17 ภายใต้บังคับมาตรา 16 ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเอง (14) การส่งเสริมการท่องเที่ยว (18) การส่งเสริมการกีฬา จารีตประเพณี และวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น และเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สาธารณะและจังหวัดสงขลา
จึงได้เห็นความสำคัญในการศึกษาและประเมินศักยภาพการเป็นสมาชิกเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโกรวม ไปถึงการจัดเตรียมแผนดำเนินงานเพื่อการส่งเสริมและขับเคลื่อนสงขลาสู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์ ตามหลักเกณฑ์ขององค์การยูเนสโก อันจะส่งเสริมให้สงขลาเป็นที่รู้จักในระดับชาติและนานาชาติ จึงได้มีขั้นตอนและแนวทางการดำเนินงานตามกรอบแนวทางขอบเขตการจ้างเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ ภายใต้โครงการจ้างที่ปรึกษาศึกษาการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองตามแนวทางการเป็นเมืองสร้างสรรค์ (โครงการสงขลาสู่เมืองสร้างสรรค์ UNESCO : Songkhla Creative City Initiative)
ดำเนินงานโครงการตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2567 – 10 พฤศจิกายน 2567
เป้าหมาย
ทบทวนแผนการดำเนินงานการขับเคลื่อนจังหวัดสงขลาสู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก (UNESCO) เพื่อสนับสนุนการเขียนเอกสารร่างใบสมัครเข้าร่วมเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก
โดยมีขั้นตอนการดำเนินงาน ประกอบด้วย
1)การทบทวนแผนทบทวนแผนการดำเนินงานการขับเคลื่อนจังหวัดสงขลาสู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UNESCO) ด้านอาหาร “พหุวัฒนธรรม ในวิถีลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” พร้อมศึกษารวบรวมข้อมูลจังหวัดสงขลา และทบทวนศักยภาพและความเหมาะสมของจังหวัดสงขลาตามกรอบของตัวชี้วัดของ UNESCO จัดทำฐานข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์เชิงพื้นที่ ระบุศักยภาพเชิงประเด็นเมืองสร้างสรรค์ตามมาตรการสากล โดยใช้เครื่องมือการเป็นเครือข่ายสร้างสรรค์ (Main theme and sub-theme)
2) จัดทำร่างใบสมัครเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และกระบวนการ Peer Review เอกสารใบสมัคร
3)การจัดทำแผนการดำเนินงาน (Road Map) และแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ระยะ 4 ปี การขับเคลื่อนเมืองสงขลาสู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์ ตามหลักเกณฑ์ขององค์การยูเนสโก
4)การเข้าร่วมงานประชุม หรือเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก
5)การจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อสื่อสารและการขับเคลื่อนเมืองสงขลาสู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์ ตามหลักเกณฑ์ขององค์การยูเนสโก
#songkhlacreativevityinitiative#สงขลาสู่เมืองสร้างสรรค์UNESCO