แนวคิดเรื่องเมืองสร้างสรรค์ หรือ Creative City เกิดขึ้นในช่วง พ.ศ. 2531 (ค.ศ. 1988) ในประเทศออสเตรเลีย โดยแนวคิดเมืองสร้างสรรค์นี้ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ด้านการวางผังเมือง เน้นย้ำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ระหว่างเมือง ประชาชนผู้อยู่อาศัย และสร้างประสบการณ์ความพึงพอใจของสถานที่นั้น ๆ โดยหัวใจสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานวัฒนธรรม ประกอบด้วยสองปัจจัยหลัก คือ การวางแผนบนฐานวัฒนธรรม และทุนทางด้านวัฒนธรรม ปัจจัยสองสิ่งนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการออกแบบเมือง งานสถาปัตยกรรม และสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมด้านศิลปะและการท่องเที่ยว
สาระสำคัญในการกระตุ้นการวางแผนอนาคต สำหรับประเทศสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO
- รวบรวมประสบการณ์และรายงานผล อาทิ จัดทำรายงานผลและเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ UNESCO เพื่อให้ประเทศสมาชิกอื่น ๆ ได้เรียนรู้และนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหา และการสื่อสารระหว่างเครือข่าย
- พัฒนาแนวปฏิบัติและกลยุทธ์ด้านวัฒนธรรม อาทิ แสดงผลการดำเนินงานจากความคิดสร้างสรรค์และพัฒนาเมืองสมาชิก ภายใต้กรอบแนวคิดของ UNESCO
- ดำเนินโครงการนำร่องและทดลองปฏิบัติ เพื่อแสดงผลกระทบจากความสร้างสรรค์ในการพัฒนาเมือง พร้อมทั้งขยายกรอบความร่วมมือด้านการศึกษาวิจัย
- จัดทำกิจกรรมฝึกอบรม เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ภายในเครือข่าย เพื่อขยายขีดจำกัดสำหรับเมืองสมาชิกและเมืองที่ต้องการเข้าร่วมเครือข่าย
สำหรับการขับเคลื่อนสงขลาสู่เมืองสร้างสรรค์ จากการวิเคราะห์แผน นโยบาย กิจกรรม รวมถึงการลงพื้นที่เก็บข้อมูล เพื่อสร้างความสอดคล้องระหว่างเป้าประสงค์ของโครงการและเป้าประสงค์ขององค์การสหประชาชาติ และการเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก ที่ปรึกษาจึงได้สรุปคุณค่าหลักของการขับเคลื่อนสงขลาสู่การเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ดังนี้:
เสาที่ 1: การแสดงออกถึงคุณค่าความหลากหลายผ่านนิเวศน์วิทยาที่มีความสอดคล้องกับลักษณะภูมิศาสตร์ (Ecological Biodiversity)
เสาที่ 2: การแสดงออกถึงความโดดเด่นผ่านวิถีชีวิตแบบพหุวัฒนธรรม (Multi-Cultural Significance)
เสาที่ 3: การแสดงออกถึงคุณค่าที่ริเริ่มโดยชุมชนในพื้นที่ (Local Community Initiative Value)
3 เสาคุณค่าหลักดังกล่าวจะถูกพัฒนาสู่แนวคิดในการนำเสนอจังหวัดสงขลาสู่การเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ร่วมกับการวิเคราะห์รายละเอียดใบสมัครที่เชื่อมโยงกับพันธกิจของสหประชาชาติและองค์การยูเนสโก พร้อมทั้งการวิเคราะห์ด้านพื้นที่ (Spatial Analysis) และการพัฒนารายละเอียดในขั้นตอนต่อไป