สวา – ละมุดเมืองใต้ 

ใครผ่านไปเกาะยอช่วงต้นปี น่าจะคุ้นตากับเพิงขายผลไม้ริมถนน เห็นก้อนกลมๆ สีน้ำตาลวางเรียงรายหน้าแผง สำหรับคนต่างถิ่นแว็บแรกอาจพานคิดไปไกลว่าคนเกาะนี้นิยมเลี้ยงไก่ไข่ แต่โปรดเก็บความสงสัยไว้และแนะนำให้จอดรถ แวะช้อปแวะชิม สวา หรือละมุดเกาะยอ เพราะถ้าพลาดโอกาสได้ลิ้มชิมรส จะเรียกว่าคุณยังไม่สัมผัสความเป็นเกาะยอแบบร้อยเปอร์เซ็นก็ว่าได้ 

สำหรับคนท้องถิ่น ต่างคุ้นชินกับ ‘สวา’ หรือละมุด บางแห่งเรียก ‘ชวานิลอ’ (ปัตตานี และยะลา) เป็นอย่างดี แท้จริงแล้วละมุดรสชาติดีของจังหวัดสงขลาไม่ได้มีแค่ที่เกาะยอเท่านั้น ยังมีอีกแหล่งปลูกขนาดใหญ่อย่างอำเภอบางกล่ำ (ทิศตะวันตกเฉียงเหนือจากอำเภอหาดใหญ่) อำเภอที่สวามีชื่อเสียง จนนำไปตั้งเป็นคำขวัญอำเภอให้เชิดหน้าชูตาว่า “หลวงปู่เฟื่องเลื่องลือ ระบือเรือแข่ง แหล่งส้มโอหวาน ย่านสำเภานาวา สวาลือนาม เหนียวหลามรสดี”

สวา หรือ ละมุด เป็นไม้เขตร้อนสันนิษฐานว่ามีถิ่นกำเนิดจากประเทศแถบอเมริกากลาง และอินเดียตะวันตก เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีทรงพุ่มทึบ หลังจากปลูกได้ 3-4 ปี จึงเริ่มติดผล ในประเทศไทยมี 2 ชนิดหลักๆ ได้แก่ ละมุดไทย หรือละมุดสีดา แหล่งที่ปลูกที่มีชื่อเสียงแล้วคนนึกถึงได้ทันที คือ ละมุดอำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี ส่วนอีกชนิดคือ ละมุดฝรั่ง ที่นำพันธุ์เข้ามาจากต่างประเทศ เช่น พันธุ์ไข่ห่าน พันธุ์กระสวยมาเลย์ หรือลูกแขก

ละมุดเกาะยอ มีรสชาติ หอม หวาน กรอบ เนื้อละเอียด มีสีน้ำตาลเมื่อสุกเต็มที่ เนื่องจากเกาะยอมีสภาพพื้นที่เป็นเกาะมีทะเลล้อมรอบทำให้เกิดช่วงน้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย (3 น้ำ) ส่งผลให้ละมุดเกาะยอมีรสชาติต่างจากละมุดที่อื่น เกษตรกรชาวสวนละมุดในตำบลเกาะยอ ส่วนใหญ่จะนิยมปลูกละมุดพันธุ์ไข่ห่าน และมีพันธุ์กระสวยหรือลูกแขกบ้างประปราย

__

หากใครได้ลองชิมละมุด หรือสวาที่สงขลา ก็จะรู้ว่าสภาพภูมิประเทศ คุณภาพดิน ความจืดกร่อยของน้ำ กับระยะใกล้ไกลทะเล การดูแลสวนแบบธรรมชาติไม่ใช้สารเคมี มีผลต่อรสชาติ ความหวาน และเนื้อสัมผัส คนท้องถิ่นถึงกับแยกได้ว่ารสแบบนี้คือ สวาบางกล่ำ อีกลูกเป็นสวาเกาะยอ นี่คือลักษณะโดดเด่น ควรค่าแก่การส่งเสริมสร้างชื่อให้เป็น ‘วัตถุดิบชั้นเลิศ’ และสนับสนุนการปลูกที่ให้ได้คุณภาพสูง สร้างงานสร้างรายได้ให้คนสงขลาอย่างเป็นระบบต่อไป