เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ UNESCO สำคัญอย่างไร?

เมืองสร้างสรรค์ และ เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก กลายเป็นเทรนด์ที่หลายๆเมืองทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศต่างช่วยกันผลักดัน หลากหลายเมืองทั่วโลกประสบผลสำเร็จกลายเป็น ‘เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก’  ในขณะที่หลายเมืองไม่สามารถผ่านการพิจารณาเข้าเป็นสมาชิกเครือข่าย อะไร คือ ปัจจัยสำคัญของความล้มเหลว?

เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ได้กำหนดกระบวนการพิจารณาเข้าสมัครเป็นสมาชิกไว้ทุก 2 ปี และกำหนดให้เมืองที่มีความสนใจกรอกเอกสารใบสมัคร โดยนอกเหนือจากรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับ ความโดดเด่นของเมืองในด้านที่นำเสนอภายใต้ 7 สาขา โอกาส กลยุทธ์การพัฒนา และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระดับชาติและระดับนานาชาติ การเปรียบเทียบสินทรัพย์ของเมืองที่ต้องแสดงให้เห็นถึงความสร้างสรรค์และตอบโจทย์การเป็นสมาชิกเครือข่ายฯ อีกปัจจัยที่สำคัญ คือ แผนและโครงสร้างการทำงานเพื่อตอบสนองต่อพันธกิจการเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับกระบวนการเชิงนโยบาย งบประมาณ และการบริหารจัดการเมือง

_________________

ทำความเข้าใจ ‘ความหมายของเมืองสร้างสรรค์ และ เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก’ 

ความหมายของ เมืองสร้างสรรค์ (Creative Cities): หมายถึง ศูนย์กลางเมืองที่ใช้ประโยชน์จากความคิดสร้างสรรค์และวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การทำงานร่วมกันทางสังคม และการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ความหมาย เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network : UCCN): หมายถึง เครือข่ายเมืองระดับโลกที่ได้รับการยอมรับจากยูเนสโก โดยมีคำมั่นสัญญาในการส่งเสริมอุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์และวัฒนธรรม

พันธกิจเครือข่ายสมาชิกเมืองสร้างสรรค์โดยองค์การยูเนสโก  มีอะไรบ้าง

พันธกิจเครือข่ายสมาชิกเมืองสร้างสรรค์โดยยูเนสโก หรือ UCCN มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือกับเมืองต่างๆ ที่นำความคิดสร้างสรรค์ (creativity) เป็นปัจจัยเชิงกลยุทธ์การพัฒนาที่ยั่งยืนในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ด้วยการเข้าร่วมเครือข่าย เมืองต่างๆ จำเป็นต้องมีความมุ่งมั่นในการแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด (best practice) ในการพัฒนาความร่วมมือที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมวิถีชีวิตทางวัฒนธรรม และบูรณาการวัฒนธรรมในแผนการพัฒนาเมือง โดยประเทศเครือข่ายสมาชิกต้องมุ่งเน้นการปฏิบัติที่สนับสนุนกรอบการทำงานของสหประชาชาติ

___________________

ในปี พ.ศ. 2560 ยูเนสโกได้เผยแพร่เอกสาร UNESCO CREATIVE CITIES NETWORK (UCCN) “BUILDING A COLLECTIVE VISION FOR THE FUTURE” STRATEGIC FRAMEWORK โดยมีสาระสำคัญในการกำหนดกรอบการทำงานเชิงกลยุทธ์ คือ “การสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกันเพื่อสนับสนุนให้วัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์สามารถช่วยพัฒนาเมืองได้ และเพื่อให้การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ทั่วโลกเดินหน้าร่วมกันในการสร้างความยั่งยืน” ซึ่งหัวใจสำคัญประกอบไปด้วย 1) การสร้างระบบการทำงานและบริหารจัดการเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ทั่วโลก (committe to the development of the network) ผ่านความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเพื่อร่วมกันผลักดันด้านนโยบาย มาตรฐาน และแนวทางในการดำเนินงาน 2) การดึงดูดและขยายเครือข่ายเพื่อเป็นแหล่งนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับนโยบายพัฒนาเมืองที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมด้านวัฒนธรรม (culture-engaged urban policies) และ  3) การสร้างพันธกิจใหม่และการปรับโฉมกลไกในการกำกับดูแล (governance mechanism) ส่งผลให้หลังจากปี พ.ศ. 2560 เมืองที่มีต้องการสมัครเข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายจำเป็นต้องนำเสนอข้อมูล แผน นโยบาย และโครงสร้างกระบวนการทำงาน เพื่อตอบสนองกระบวนการทำงานเชิงกลยุทธ์ดังกล่าว

จากการดำเนินงานเบื้องต้นภายใต้โครงการฯ พบว่า ปัจจัยสำคัญในการออกแบบโครงสร้างการบริหารจัดการองค์กรเพื่อขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ คือ การพิจารณาผ่านหน้าที่ พันธกิจ นโยบาย และแผนการดำเนินงาน เมื่อพิจารณาในบริบทประเทศไทย พบว่า มีหน่วยงานและองค์กรที่ทำหน้าที่ในการรับผิดชอบ สนับสนุน และส่งเสริมกระบวนการเข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ประกอบด้วย

  1. หน่วยงานนานาชาติที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในประเทศไทย อาทิ The UNESCO Regional Office in Bangkok
  2. หน่วยงานภาครัฐ (ระดับกระทรวง) อาทิ National Commission of UNESCO ประเทศไทย
  3. หน่วยงานรัฐระดับท้องถิ่น อาทิ สำนักงานจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด และ เทศบาล
  4. หน่วยงานสนับสนุน อาทิ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. และ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)

โดยสรุป จากการพิจารณาตามพันธกิจ วิสัยทัศน์ และเป้าประสงค์ของหน่วยงานข้างต้นพบ ความเชื่อมโยงของเป้าหมายในการเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์อยู่ภายใต้คำสำคัญ ประกอบด้วย วัฒนธรรม การท่องเที่ยว การประชุมนานาชาติ และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยสามารถแยกกลุ่มได้ดังนี้

ด้านวัฒนธรรม UNESCO Regional Office in Bangkok และ คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (Thai National Commission for UNESCO) ประเทศไทย มุ่งเน้นการขับเคลื่อนการเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกผ่านการรักษาวัฒนธรรมระดับชาติและนานาชาติ

ด้านการท่องเที่ยว อ้างอิงตามกรอบนโยบายและแผนของสำนักงานจังหวัดภายใต้การพัฒนา ส่งเสริมการท่องเที่ยว การกีฬา และบริการที่มีคุณภาพได้มาตรฐานโดยมีเลขานุการ คือ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด พร้อมทั้งมีการประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนหลายจังหวัดเป็นเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UNESCO) ในบางพื้นที่มีการทำงานเชื่อมโยงกับการทำงานร่วมกับ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) ที่ทำหน้าที่ส่งเสริม และพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในเชิงบูรณาการระหว่างวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวในขณะที่องค์การปกครองระดับท้องถิ่นอย่างองค์การส่วนบริหารจังหวัด

ด้านการประชุมนานาชาติ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) มุ่งเป้าการพัฒนาศักยภาพการประชุมของกลุ่มองค์กรหรือการ ประชุมวิชาชีพ และการแสดงสินค้านานาชาติ หรือที่เรียกว่าอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) โดยมีมองเห็นการขับเคลื่อนการเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์เป็นวาระหนึ่งในการขับเคลื่อนระดับนานาชาติ

ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) มุ่งเป้าในส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของทุนวัฒนธรรมและเมืองสร้างสรรค์ โดยกำหนดตัวชี้วัดชัดเจนภายในปี พ.ศ. 2570 มีตัวชี้วัดหลัก คือ จำนวนเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก เพิ่มขึ้น 2 เมือง

คำถามสำคัญจากนี้ คือ แต่ละเมืองที่มีความพยายามผลักดันการเข้าสู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ควรออกแบบแผนและโครงสร้างการทำงานเพื่อตอบสนองต่อพันธกิจการเป็นสมาชิกเครือข่ายอย่างไรให้เหมาะสม เพราะการเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก มิใช่ รางวัล แต่เป็น ‘คำมั่นสัญญา’ ที่เมืองมีต่อเครือข่ายทั่วโลก ที่นอกเหนือจากการตอบพันธกิจแล้ว ยังจำเป็นต้องตอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และ MONDIACULT หรือ ปฏิญญาด้านวัฒนธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืนของยูเนสโก อีกด้วย

หมายเหตุ

  1. 7 สาขา ได้แก่การออกแบบ งานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ภาพยนตร์ วิทยาการด้านอาหาร ดนตรี วรรณกรรม และสื่อศิลปะ
  2. ยูเนสโก (UNESCO) หรือ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ) ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานเฉพาะทางของสหประชาชาติที่ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ความร่วมมือด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม และการสื่อสาร โดยประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกองค์การยูเนสโกเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2492 นับเป็นประเทศ สมาชิกลำดับที่ 49 และคณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (National Commission for UNESCO) เพื่อให้เป็นไปตามกฎบัตรของ ยูเนสโก โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นรองประธาน และรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ฝ่ายการต่างประเทศ) เป็นเลขาธิการ วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2492 มีการจัดตั้งสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานประสานงานแห่งชาติกับยูเนสโก ใน 6 ด้านได้แก่ การศึกษา วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ วัฒนธรรม การสื่อสารและ สารสนเทศ ด้านสุดท้ายเป็นหัวข้อพิเศษ ในทางปฏิบัติมีการแต่งตั้งคณะกรรมการฝ่าย ต่าง ๆ เพื่อปฏิบัติงาน เฉพาะด้านตามภารกิจและความชำนาญ

อ้างอิง

https://sdgs.un.org/goals

https://www.un.org/esa/socdev/rwss/2016/chapter1.pdf

https://www.bic.moe.go.th/index.php/pages/unesco/blog/new-30-5-2566