คำว่า “ยั่งยืน” ในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาของสังคมไทย น่าจะเป็นถ้อยคำที่หยิบยกมาต่อเติมโครงการ และการดำเนินการต่างๆ บ่อยครั้งที่สุด โดยมีเป้าหมายและ ความคาดหวัง ให้ผลลัพธ์ของการดำเนินงานสามารถส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่อง และสิ่งใดก็แล้วแต่ที่ริเริ่มไว้จะออกดอกออกผล เติบโตและดำรงอยู่ได้ด้วยตนเอง
แต่จนถึงปัจจุบันเชื่อว่าหลายคนยังคงมีคำถามว่า แล้วความหมายที่แท้จริง และการชี้วัดความ ‘ยั่งยืน’ นั้นทำอย่างไร
ย้อนกลับไปในหน้าประวัติศาสตร์ของภาพรวมกระแสการพัฒนาระดับโลก Sustainable development ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงครั้งแรก เมื่อปี 1987 หรือ พ.ศ.2515ในวาระการประชุม “การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ (United Nations Conference on Human and Environment)” ที่จัดขึ้น ณ กรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ประเด็นสำคัญในการประชุมระดับนานาชาติครั้งนั้น คือการกล่าวถึงผลกระทบและวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้นจากกรแสการพัฒนาแบบมุ่งเน้นด้านเศรษฐกิจเพียงแต่เพียงอย่างเดียว โดยมิได้ตระหนักถึงผลกระทบในมิติอื่นๆ แนวคิด “การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable development)” จึงนำเสนอโดยคณะกรรมาธิการโลกว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (World Commission on Environment and Development) หรือ คณะกรรมาธิการบรนัท์แลนด์ (Brundtland Commission) และได้มีการจัดทำรายงานเสนอต่อสหประชาชาติในเวลาต่อมา เพื่อเรียกร้องให้ทุกประเทศ หันมาให้ความสำคัญกับสมดุลของการพัฒนาที่พิจารณาถึงผลกระทบอย่างรอบด้าน
จากการเรียกร้องดักล่าวนำมาสู่การจัดประชุมสุดยอดของโลกว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (UN Conference on Environment and Development: UNCED) ในปี 1992 หรือ พ.ศ. 2535 ณ กรุงริโอเดอจาเนโร ประเทศบราซิล ซึ่งประเทศสมาชิกกว่า 178 ประเทศรวมถึงประเทศไทยได้ร่วมลงนามในการปฏิบัติตามแผนแม่บทโลกซึ่งใช้เป็นกรอบคิดในการกำหนดการพัฒนาที่ยั่งยืน และถูกประกาศเป็นหลักการแห่งสิ่งแวดล้อม และร่างแผนปฏิบัติการ เรียกว่า Agenda 21 เพื่อใช้ดําเนินการให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับทศวรรษ 1991-1999 และศตวรรษที่ 21 พร้อมทั้งประกาศบัญญัติคําว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development)” เพื่อใช้ในการสื่อสาร และใช้ดำเนินการตามแผนพัฒนาต่างๆ ทั่วโลก
สำหรับองค์การยูเนสโกได้กล่าวถึง การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยให้ความสำคัญครอบคลุมสามมิติ เป็นสามเสาหลักแห่งความยั่งยืน ที่ ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ โดยเสาหลักทั้ง 3 จะต้องได้รับการตระหนักและคำนึงถึงให้ เป็นแนวทางที่สามารถเชื่อมโยง เป็นองค์รวมและบูรณาการที่สร้างสมดุลระหว่างความต้องการของผู้คน โลก และความเจริญรุ่งเรืองทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
🟢มิติด้านสิ่งแวดล้อม การพัฒนาที่ยั่งยืนตระหนักถึงธรรมชาติอันจำกัดของทรัพยากรโลก และความสำคัญของการอนุรักษ์ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการดำเนินกิจกรรมที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การอนุรักษ์ การป้องกันมลพิษ และการจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืน เพื่อให้มั่นใจถึงสุขภาพและความสามารถในการฟื้นตัวของโลกในระยะยาว
🟢มิติทางสังคม การพัฒนาที่ยั่งยืนมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางสังคม การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และความยุติธรรม โดยนำเสนอประเด็นด้านความไม่เท่าเทียม การเพิ่มศักยภาพให้กับชุมชนชายขอบ และการเคารพสิทธิมนุษยชน โดยให้ความสำคัญกับเปิดโอกาสการเข้าถึงการศึกษา การดูแลสุขภาพ ที่อยู่อาศัย และบริการพื้นฐานอื่นๆ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของทุกคนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง
🟢มิติทางเศรษฐกิจ การพัฒนาที่ยั่งยืนมุ่งส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเจริญรุ่งเรือง ในขณะเดียวกันก็มุ่งลดผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการดำรงชีวิตที่ยั่งยืน การสร้างงาน และการกระจายความมั่งคั่งอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อให้แน่ใจว่าความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจจะเป็นประโยชน์ต่อคนทุกกลุ่ม ไม่ใช่แค่กลุ่มคนที่มีสิทธิพิเศษเพียงไม่กี่คน นอกจากนี้ การพัฒนาที่ยั่งยืนยังส่งเสริมนวัตกรรม ความเป็นผู้ประกอบการ และการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบซึ่งนำไปสู่ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจในระยะยาว