‘ตาล’ คือไม้ที่อยู่คู่กับคนอุษาคเนย์มาเนิ่นนาน เคยมีการค้นพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ย้อนไปไกลถึงสมัยทวารวดีที่เมืองโบราณจันเสน (ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ ต.จันเสน อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์) เป็นตราประทับดินเผาลวดลายคนปีนต้นตาล อายุราวพุทธศตวรรษที่ 11-12 ซึ่งสันนิษฐานไว้ว่า น่าจะเป็นตราประจำตระกูลที่มีหน้าที่จัดการผลผลิตจากตาลโตนดในพื้นที่ให้กับรัฐในยุคนั้น นอกจากหลักฐานชิ้นนี้ก็มีบันทึกและงานด้านวรรณกรรมอีกหลายชิ้นพูดถึง ต้นตาล ในฐานะพืชพันธุ์ที่มีความสำคัญในท้องถิ่น ทั้งพื้นในพื้นที่ภาคกลาง อย่างจังหวัด เพชรบุรี สุพรรณบุรี รวมถึงภาคใต้บริเวณคาบสมุทรสทิงพระ จ.สงขลา
ต้นกำเนิดของ ‘ตาล’ – ตาลเป็นไม้ตระกูลปาล์มกลุ่มเดียวกับมะพร้าว แต่มีอายุยืนยาวกว่า บางแหล่งข้อมูลเชื่อกันว่า ‘ตาล’ มีถิ่นกำเนิดจากพื้นที่แถบอินเดียใต้ สันนิษฐานจากคำว่า ‘ตาล’ ซึ่งเป็นคำในภาษาฮินดี แล้วคนไทยนำมาเรียกตาม บางแหล่งก็บอกว่ามาจากทวีปแอฟริกา กระจายตัวผ่านการค้าขายติดต่อเชื่อมโยงกันของบรรดาเมืองท่าสำคัญในอดีต ซึ่งอาจหมายรวมไปถึงคาบสมุทรสทิงพระเข้าไปด้วย บันทึกในยุดปัจจุบันเคยมีการสำรวจกันไว้ว่า ที่อำเภอสทิงพระในนา 1 ไร่ มีต้นตาลโตนดอยู่ราว 20 ต้น และพื้นที่ทั้งอำเภอน่าจะมีต้นตาลอยู่มากถึง 500,000 ต้นเลยทีเดียว
ความโดดเด่นของ ตาลโตนด เรื่องแรกคือปลูกง่าย โตได้กับดินทุกชนิด ต้องการน้ำน้อย ทนแล้งได้ดี ไม่ต้องใส่ใจดูแลให้วุ่นวาย รากลึก ทนทานต่อแรงลม อายุยืนยาวได้ถึง 100 ปี และสูงได้ถึง 30 เมตร เมื่อเติบโตเต็มที่ไม่ส่งผลเสียกับพื้นที่ไร่นาและปริมาณผลผลิต ใช้เป็นร่มเงาเลี้ยงสัตว์ หรือบอกเขตที่ดิน เป็นแหล่งอาศัยให้กับนกและค้าวคาว ซึ่งเอื้อประโยชน์ในการควบคุมแมลง และมูลยังช่วยเพิ่มปุ๋ยให้กับท้องนา
___
ตาลโตนดที่นิยมปลูกกันมากในพื้นที่สทิงพระ มี 3 สายพันธุ์ ได้แก่ 1.พันธุ์กา – มีลักษณะเด่นคือผลทรงรีมีขนาดใหญ่ที่สุด ผิวสีดำและแตกรายงา ชาวบ้านนิยมปลูกและพบมากในพื้นที่ 2. พันธุ์ข้าว มีลักษณะผลกลมป้อม ผิวสีน้ำตาลอมเหลือง เรียบเป็นมันวาว เนื้อมีรสชาติหวานมันกว่าสายพันธุ์อื่นจึงนิยมปลูกไว้ทำขนม และผลอ่อน (หัวตาล) จะนำมาทำอาหารได้หลากหลาย ทั้ง ยำ แกง คั่ว และต้ม 3.พันธุ์ขมิ้น พบได้น้อย มีลักษณะคล้ายตาลโตนดพันธุ์ข้าว แต่ส่วนก้นของผลจะมีสีเหลืองเข้มสดคล้ายสีขมิ้น เช่นเดียวกับเนื้อที่เป็นเส้นใยภายในซึ่งจะมีสีเหลืองสดเมื่อแก่เต็มที่ เหมาะกับการนำมาคั้นน้ำเอาสีผสมขนม แท้จริงแล้ว ผลผลิตจากตาลโตนด นั้นมีหลากหลายและใช้ได้จากทุกส่วนของต้น เช่นน้ำตาลที่ได้จากงวงตาล นำมาดื่มเป็นน้ำตาลสด และเคี้ยวแปรรูปเป็นน้ำตาลปี๊บ น้ำตาลปึก น้ำตาลแว่น น้ำตาลผง แล้วแต่กรรมวิธี หรือจะนำไปหมักทำน้ำส้มสายชูรสชาติดีเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผลอ่อน(หัวตาล) สามารถนำมาปรุงอาหาร ผลตาลสุกเต็มที่ เนื้อเส้นใยนำมาคั้นทำสี เมล็ดด้านในรสหวานชื่นใจนำมาลอยแก้ว หรือทำขนม เมล็ดตาลที่เริ่มแทงยอดภายในมีจาวตาล