Bergen เมืองสร้างสรรค์ ‘สวรรค์ของอาหารทะเล’ แห่งนอร์เวย์

หากเพียงแค่ยกความรุ่มรวยของทรัพยากร และความหลากหลายทางธรรมชาติของสงขลา เชื่อมโยงไปสู่การมีวัตถุดิบชั้นดีจากทะเล จังหวัดสงขลา ก็น่าจะเป็นจังหวัดหนึ่งที่โดดเด่นเคียงบ่าเคียงไหล่กับเมืองอาหารทะเลในที่อื่นๆ ทั่วโลก

แต่อะไรหละ? คือสิ่งที่ทำให้เมืองแห่งวัตถุดิบและอาหารทะเล แตกต่าง และโดดเด่น จนน่าจบตาและได้รับการรับรองจากยูเนสโก เมือง Bergen เมืองท่าสำคัญของนอร์เวย์ น่าจะพอเป็นตัวอย่างของคำตอบ ชวนให้เราเรียนรู้และคิดต่อได้อย่างน่าสนใจ 

หากเปรียบกับเมืองท่าที่เรียงรายบนคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย เมืองอย่าง Bergen (‘เบอร์เกน’) ก็ไม่ต่างจากเมืองท่าสำคัญอย่าง สตาร์แวนเกอร์ (นอร์เวย์) หรือโคเธนเบิร์กของสวีเดน ด้วยลักษณะที่ตั้งที่ตั้งหลบอยู่พื้นที่ภายใน มีปราการทางธรรมชาติเป็นเกาะ และฟยอร์ด คอยกำบังมรสุมกับลมทะเล มีท่าเรือ (Wharf) เรือประมง และชุมชนการค้าวัตถุดิบ อาหารทะเล เรียงรายตามชายฝั่ง และบนถนนสายสำคัญ พร้อมกับประวัติศาสตร์อันยาวนานในฐานะเมืองท่าย้อนไปไกลร่วม 1,000 ปี กับความโดดเด่นของงานสถาปัตยกรรมอาคารท่าเรือ (Wharf) แบบดั้งเดิมของเบอร์เกนที่เรียกว่า Bryggen ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก 

ความโดดเด่นของ Bergen ที่ทำให้เมืองแห่งนี้ได้รับการรับรองเป็นเมืองสร้างสรรค์ – เมืองแห่งวิทยาการอาหาร (City of Gastronomy) ในปี 2015 (พ.ศ. 2558) อยู่ที่ 3 องค์ประกอบสำคัญ 
1.ความเป็นเมืองแห่งวัตถุดิบอาหารทะเลที่มีคุณภาพ และทักษะองค์ความรู้กับการปรุงอาหาร – เบอร์เกนถือว่าเป็นเมืองที่ให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพของวัตถุดิบเป็นอย่างมาก ส่งผลให้มี ร้านอาหาร และเชฟ จำนวนมากเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ชุมชนอาหาร ที่มีสีสัน มีความน่าสนใจ จนได้รับมอบรางวัลความเป็นเลิศด้านอาหารนับไม่ถ้วน โดยยังคงรักษาคุณค่าสำคัญของวัตถุดิบที่สดใหม่ หาได้และผลิตอย่างประณีตในท้องถิ่น รวมถึงใส่ใจเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม 

2.การมีตลาดวัตถุดิบอาหารทะเลหลายแห่ง มีตลาดผู้ผลิต (Farmer Market) ที่ผู้ซื้อสามารถซื้อวัตถุดิบและอาหารโดยตรงจากผู้ผลิต (ชาวประมง, ชาวสวน, ผู้ผลิตอาหารรายเล็กในท้องถิ่น) เป็นอาหารหรือวัตถุดิบสดใหม่ที่ผลิตในท้องถิ่น และสามารถตรวจสอบย้อนหลังถึงที่มา เป็นการจับหรือผลิตที่ใช้ทักษะองค์ความรู้เชิงภูมิปัญญาและเชิงช่างฝีมือ นอกจากนี้ในเบอร์เกนยังมี ร้านอาหารท้องถิ่นท้องถิ่นที่มีชื่อเสียง เมนูอาหารที่สะท้อนคุณลักษณะสำคัญของเมือง และมีเทศกาลอาหาร (Food Festival) จัดเป็นประจำทุกปี 

และ 3.วิสัยทัศน์และแผนการบริหารจัดการเมืองเพื่อรักษาคุณค่าการเป็นเมืองแห่งวัตถุดิบและอาหารทะเล ที่วางยุทธศาสตร์เป็นธงนำไว้ครอบคลุมปี 2019-2030 

วิสัยทัศน์ที่วางเอาไว้ชัดเจน และเห็นภาพ “Bergen City of Gastronomy – internationally recognized for sustainable and world class food experiences”. เบอร์เกนเมืองแห่งวิทยาการอาหาร ที่เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติเรื่องความยั่งยืนและประสาบการณ์ด้านอาหารระดับโลก

ยุทธศาสตร์สำคัญ 2 ประเด็น

1.เบอร์เกนจะต้องมีสถานะเป็นเมืองแห่งวิทยาการอาหารระดับนานาชาติ และรู้จักในฐานะเมืองที่มอบประสบการณ์อาหารและเครื่องดื่มระดับโลกบนฐาน คุณค่าและผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่น  

2.ภายในปี 2030 (พ.ศ.2573) เบอร์เกนจะมุ่งมั่นส่งเสริมให้วัฒนธรรมอาหาร เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาเมือง  

Key words คำสำคัญของเบอร์เกน

วิทยาการอาหาร (Gastronomy) , ความยั่งยืน, วัฒนธรรมอาหาร และประโยชน์ที่ได้จากการใช้อาหารและวิทยาการอาหารเพื่อสุขภาพที่ดี และคุณภาพชีวิต

เมื่อมองกลับมาที่สงขลา องค์ประกอบทั้ง 3 ประการ และหัวใจสำคัญคือการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการตั้งแต่ระดับครัวเรือน ไปจนถึงตลาดท้องถิ่น และเชื่อมโยงการค้าขายไปทั่วโลก น่าสนใจไม่น้อยว่าเมื่อพิจารณาให้ดีจังหวัดสงขลา ได้มีสิ่งเหล่านี้อยู่บ้างแล้ว รอเพียงการกำหนดเป้าหมายร่วมกันให้ชัดเจน บูรณาการความร่วมมือ และทำให้สัมฤทธิ์ผลเท่านั้น ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทาย และมีความเป็นไปได้หากคนสงขลาร่วมมือกัน

เรียบเรียงจาก 
– เว็บไซด์ bergengastronomy.com