Songkhla’s Origin โหนด – นา – เล

โหนด – นา – เล

ฟังเสียงผืนดิน ได้ยินทะเล

นับวันความเข้าใจและการรับรู้ถึงการเป็นหนึ่งเดียวกัน เชื่อมโยง และรับรู้ถึงความอ่อนไหว ร้อน หนาว

ระหว่างเรากับสิ่งแวดล้อมรอบตัว มีแต่จะเริ่มเบาบางลง ภาวะเอาใจเขามาใส่ใจเรา (กับธรรมชาติ) กลายเป็นเรื่องห่างไกล และหลงหายไปกับวันเวลาของความเร่งรีบ เพื่อให้สัมฤทธิ์ตามจำนวนนับของเป้าหมาย 

ไม่อยากเรียกว่าเป็นโชคดี แต่ในปัจจุบันเรายังคงหลงเหลือมรดกของการเชื่อมโยงสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติให้ได้เห็น ตระหนัก และเรียนรู้กันอยู่บ้าง ให้ได้เชื่อมโยงกลับไปสู่ความสัมพันธ์กลมเกลียวกับธรรมชาติ ตัวอย่างใกล้ตัวคนใต้ก็คือ โหนด – นา – เล

โหนด-นา-เล หลักฐานของความเข้าอกเข้าใจเชื่อมโยงตนเองกับธรรมชาติ ‘ฟังผืนดิน ได้ยินทะเล’และวิถีแห่งการผลิต ‘ต้นขั้ว’ วัตถุดิบอาหารของคนสงขลา และคนใต้ 

อาจด้วยขนาดพื้นที่ที่ไม่ใหญ่จนเกินการรับรู้ของผู้คน แผ่นดินบก หรือคาบสมุทรสทิงพระ ซึ่งมีพื้นที่จากริมทะเลสาบสงขลา ผืนดินคาบสมุทร และทะเลอ่าวไทย มีความกว้างอยู่ราว ๆ  5-12 กิโลเมตร และยาวประมาณ 70 กิโลเมตร ความเข้าอกเข้าใจธรรมชาติของคนที่นี่จึงถูกแปลความออกมาเป็นการใช้ประโยชน์พื้นที่ผ่านวิถีเกษตรกรรม และประมงชายฝั่ง หรือ ‘โหนด – นา – เล’  ที่กลมกลืนและสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียว 

โหนด – ตาลโตนด 

อาจไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่า ‘ตาลโตนด’ เข้ามาครั้งแรกในพื้นที่เมื่อไหร่ แต่เชื่อกันว่าตาลอาจมีอยู่ที่อุษาคเนย์ร่วมเวลาเป็นพันปี และคนใต้ กับคนไทยในภูมิภาคอื่นๆ ต่างรู้กรรมวิธีที่จะใช้คุณประโยชน์จากต้นตาลได้ทุกส่วน คำว่า “ตาลโตนด ประโยชน์สารพัด” จึงเป็นเรื่องไม่เกินจริง และที่สทิงพระเคยมีการกล่าวกันว่าที่นี่มีตาลเป็นล้านต้น คนสทิงพระพึ่งพาวิถีการผลผลิตน้ำตาลโตนดขายทั้งเป็นรายได้หลัก และรายได้เสริม คนหาอยู่หากินกับตาล มีงานให้ทำทุกวัน เช้าออกไปปาดงวงตาล เปลี่ยนกระบอกน้ำตาล และเก็บกลับบ้าน ตกบ่ายเย็นเยือนออกไปทำเช่นเดิมอีกรอบ น้ำตาลมากน้อยและรสชาติกับคุณภาพขึ้นอยู่กับฤดูกาล ระหว่างวันเฝ้าไฟเติมฟืนเคี่ยวน้ำตาลแปรรูป เวลาเหลือบ้างก็ออกไปทำนา เข้าสวนไม้ผลตามกำลัง วิถีตาลโตนด นั้นลึกซึ้งตรงภูมิปัญญาการใช้ประโยชน์จากต้นตาลและผลตาล ทั้งทำของใช้ และของทานอาหารเฉพาะถิ่น รวมไปถึงการพัฒนาเครื่องมือเครื่องใช้จนสมบูรณ์แบบ มีคำกล่าวเล่นๆ ว่าอย่าไปมีเรื่องกับคนปีนตาล เพราะมีดปาดตาลที่เหน็บเอว แม้จะเล่มไม่ใหญ่แต่ขึ้นชื่อเรื่องความคม งวงตาลเครือตาลที่ว่าเหนียวยังสะบั้นได้ด้วยฉับเดียว อย่าริลอง      

นา – วิถีทำนา 

ภูมิปัญญาและวิถีการทำนา คือรูปแบบและรายละเอียดการทำเกษตรที่แตกต่างกันไปแต่ละพื้นที่ คนใต้สมัยก่อนก็มีวิถีการทำนาไม่เหมือนใคร เริ่มจากข้าวพันธุ์พื้นบ้าน อย่าง ไข่มด เล็บนก นางพญา หอมจันทร์ นางหมรุย และสังหยด รสชาติเนื้อสัมผัส ความหอมมัน อร่อยที่แตกต่างจากภูมิภาคอื่น นาทางใต้แต่ก่อนเป็นนาน้ำฝน ต้องรอฤดูกาล เข้าอกเข้าใจดินฟ้าอากาศ  มีทั้งปลูกเป็นนา และปลูกสลับกับสวนผลไม้ และสวนยาง เมื่อข้าวสุกคนสทิงพระและลุ่มวัฒนธรรมนี้จะใช้แกระ หรือแกะ (เครื่องมือเกี่ยวข้าวเป็นแผ่นไม้รูปสี่เหลี่ยมคางหมูขนาดพอให้จับได้ในฝามือ ด้านหนึ่งจะมีคมมีดใช้ตัดรวงข้าว) เกี่ยวข้าวทีละรวง ก่อนจะมัดเป็นกำเรียกว่า ‘เรียง’ แล้วนำไปตี มีบันทึกว่าในระยะหลังที่แรงงานขาดแคลนและค่าแรงรายวันสูงขึ้น คนในคาบสมุทรฯ และภาคใต้แถบนี้จึงเริ่มหันมาใช้เคียว และรถเกี่ยวข้าว เพื่อประหยัดเวลา เช่นเดียวกับการสีข้าวแบบโบราณที่ใช้ครกเรียก ‘ครกสีหมุน’ ซึ่งเมื่อสีแล้วจะได้ข้าวที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ที่ ณ ปัจจุบันก็แทบไม่เหลือให้พบเห็นแล้ว  

เล – วิถีประมงพื้นบ้าน 

ภูมิปัญญา และองค์ความรู้ที่ส่งต่อกันรุ่นสู่รุ่นของวิถีประมงพื้นบ้าน มีฐานจากความเข้าอกเข้าใจลักษณะเฉพาะตัวของ 1 ทะเลสาบ และ 2 ทะเลใหญ่ ได้แก่ ทะเลสาบสงขลา (ตอนบน ตอนกลาง และตอนล่าง(ทะเลสาบสงขลา-ทะเลหลวง)) และ ทะเลอ่าวไทย กับทะเลอันดามัน ความเข้าใจนี้ครอบคลุมทั้งเรื่องสภาพน้ำ ความจืด กร่อย เค็ม ลักษณะภูมิประเทศชายฝั่ง หาดทราย ชายเลน และปากแม่น้ำ ความกระจ่างแจ่งในการอ่านความเปลี่ยนแปลงของกระแสลม กระแสน้ำ น้ำขึ้นน้ำลง  พฤติกรรมการเติบโต และออกหาอาหารของสัตว์น้ำทั้งกลางวันและกลางคืน ครอบคลุมไปถึงฤดูกาลแห่งการเติบโต ผสมพันธุ์ วางไข่ แหล่งอาศัย และพื้นที่เหมาะเจาะสำหรับการวางเครื่องมือหาปลา และห่วงเวลาของการจับสัตว์น้ำ รวมไปถึงการจับการหาอย่างไรให้สัตว์น้ำรุ่นต่อไปได้เติบโต และมีให้จับได้อย่างยั่งยืน 

และมากกว่าไปกว่านั้นคือการพัฒนาเครื่องไม้เครื่องมือที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ การเก็บรักษาถนอมอาหาร และแปรรูปเป็นสินค้า หรือการจะปรุงให้อร่อย หยิบจับเอาวัตถุดิบใกล้ตัวมาผสมผสานเป็นตำรับอาหารท้องถิ่น