คนไทยเราน่าจะชินกับคำขวัญประจำจังหวัด การตลาดแบบง่ายๆ ที่ทำงานและได้ผลชะมัดกับคนรุ่นพ่อแม่ ลุงป้าน้าอา แต่กับคนรุ่นใหม่เจนมิเลนเนียมลงมาอาจไม่คุ้นหู ได้เห็นได้ยินมีเอ๊ะ! แต่เชื่อเถอะว่า คำขวัญเหล่านี้กำลังบอกเรื่องบางอย่างกับเรา โดยเฉพาะเมื่อมีการตั้งคำขวัญประจำอำเภอขึ้นควบคู่ไปด้วย ยิ่งระบุข้อมูลบางอย่างไว้แจ่มแจ้งชัดเจน
ที่มาของคำขวัญอำเภอน่าจะมาจากการตั้งคำขวัญจังหวัดในช่วงปี พ.ศ. 2530 – 2531 ปีแห่งการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยสมัย พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สำหรับจังหวัดสงขลามีอำเภออยู่ทั้งหมดจำนวน 16 อำเภอ เราขอหยิบยกคำขวัญของอำเภอที่กล่าวจำเพาะเจาะจงถึง ‘วัตถุดิบ’ ซึ่งมีอยู่ 11 อำเภอ มาชวนคิดชวนคุยกันต่อดังนี้ ดยรัฐบาลพลเอก เปรม ประกาศให้ปี พ.ศ. 2530 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวไทย โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2530 ไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2531 ในช่วงเวลาดังกล่าวมี
บทความนี้จะขอยกเอาคำขวัญอำเภอในจังหวัดสงขลา
1. อำเภอกระแสสินธุ์ : “หลวงพ่อเดิมคู่บ้าน ดอกบัวบานทั่วถิ่น ธารารินทั่วเมือง สมเด็จเจ้าลือเลื่อง เมืองสะตอพันธุ์ดี” สะตอพันธุ์ดีที่กล่าวถึง คือ สะตอพันธ์ข้าว โดดเด่นที่รสชาติหวานปลาย กรอบ กลิ่นไม่ฉุน รสฝาดน้อย เม็ดโต มีฝักบิดเป็นเกรียว
2. อำเภอควนเนียง : “แดนศิลปินศิลปะ สะพานสู่ท่าเรือใหญ่ ผักอนามัยบางเหรียง มีชื่อเสียงชายหาด” ต.บางเหรียง อ.ควนเนียง คือแหล่งปลูกผักอนามัย (ปลอดภัย) และปลอดสารพิษมากที่สุดในจังหวัดสงขลา และมีการประกาศ ‘วันกินผักและของดีบางเหรียง’ โดยเทศบาลตำบลบางเหรียง มีกิจกรรมออกร้านเป็นประจำทุกปี
3. อำเภอเทพา : “พระสามองค์คู่บ้าน ตระหง่านเกาะขาม หาดงามทรายขาว ข้าวแกงไก่ทอด รีสอร์ตเรียงราย” ข้าวแกงไก่ทอดเทพาขึ้นชื่อมานาน ลักษณะเด่นคือมาจากตำรับและกรรมวิธีเฉพาะตัว เช่น เป็นไก่ทอดที่ไม่มีหนัง (เรียกกันว่าไก่ถอดเสื้อ) กรอบนอกนุ่มใน รสชาติเกิดจากการหมักข้ามคืน ด้วยน้ำเกลือ ซีอิ้ว รากผักชีและกระเทียมสับ ทานคู่กับแกงเขียวหวาน
4. อำเภอนาทวี : “เสน่ห์เมืองนาทวี ศรีวัดในวัง มนต์ขลังเขาน้ำค้าง รวยยางพารา เนื้อหนาขนุนทอง ลองกองมีชื่อ เลื่องลือสะเดาเทียม” นาทวีคืออำเภอที่ไม่ติดทะเล แต่มีป่าอุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้างเป็นฉากหลัง ทำให้พื้นที่เหมาะกับการเพาะปลูกไม้สวน ไม่ว่าจะเป็นยางพารา และไม้ผลอย่างขนุนพันธุ์ทองนาทวี ขนุนสีเหลืองทองลูกโตที่หนักได้ถึง 70-80 กิโลกรัม สำหรับลองกองอ.นาทวีถือว่าเป็นแหล่งปลูกแหล่งใหญ่และมีคุณภาพดีอันดับต้นๆ ของจังหวัด เช่นเดียวกับ ต้นสะเดาเทียม ไม้พระราชทานให้เป็นไม้ประจำจังหวัดสงขลา สร้างรายได้ให้ชาวบ้านจากการเก็บยอดส่งขาย และเนื้อไม้สามารถนำมาทำเฟอร์นิเจอร์ และของใช้สารพัด
5. อำเภอบางกล่ำ “หลวงปู่เฟื่องเลื่องลือ ระบือเรือแข่ง แหล่งส้มโอหวาน ย่านสำเภานาวา สวาลือนาม เหนียวหลามรสดี” อ.บางกล่ำคือ แหล่งปลูกส้มโอ และสวา (ละมุด) ที่ขึ้นชื่อ เป็นสินค้าโอทอปประจำตำบล เช่นเดียวกับข้าวหลามที่ ต.แม่ทอม มีทั้งข้าวเหนียวดำ ข้าวเหนียวขาว และใส่ถัวรสชาติ หอม หวาน มัน
6. อำเภอระโนด “ทุ่งรวงทอง นองลูกตาล ตำนานแห่งเจดีย์ พื้นที่แหล่งนากุ้ง” อ.ระโนด คือแหล่งปลูกข้าวขนาดใหญ่ที่สุดในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ ทำนาปีละ 2 ครั้งใช้ทำน้ำฝน และน้ำจากทะเลสาบสงขลาตอนบน การมีพื้นที่นาข้าวจำนวนมากก็มาพร้อมกับการปลูกตาล และผลิตผลจากตาลโตนดเป็นของดีประจำอำเภอ
7. อำเภอรัตภูมิ “ถิ่นดินแดง แหล่งผลไม้ดก น้ำตกเจ้าฟ้า ภูผามีตำนาน ประตูผ่านสู่ชายแดน” ด้วยความเป็นพื้นที่ตอนในไม่ติดทะเล และมีแนวป่าเขตรักษาพันธุ์ป่าโตนงาช้าง ความชื้น แหล่งน้ำ และสภาพดิน จึงเหมาะสมกับทำงานสวนผลไม้ และ อ.รัตภูมิก็ขึ้นชื่อเรื่องผลไม้เมืองใต้
8. อำเภอสทิงพระ “เมืองเก่าสองทะเล มนต์เสน่ห์นกน้ำ งามหาดมหาราช พระไสยาสน์ค่าล้น ผลิตผลต้นตาล ตำนานหลวงปู่ทวด” แหล่งปลูกตาลแหล่งใหญ่ไม่ใช่แค่ของจังหวัดสงขลา แต่คืออันดับต้นๆ ของประเทศ นอกจากน้ำตาลสด และสินค้าแปรรูปจากน้ำตาลและผลตาล สทิงพระยังเป็นแหล่งรวบรวมภูมิปัญญาและองค์ความรู้เกี่ยวกับตาลโตนดที่สำคัญของประเทศ
9. อำเภอสะบ้าย้อย : “ยางพันธุ์ดี มีร้อยภู ดูร้อยถ้ำ ฉ่ำน้ำไหล ลิกไนต์ดี สามัคคีเป็นเลิศ” ด้วยความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ การมีถ้ำและภูเขาที่ สะบ้าย้อยจึงเป็นแหล่งผลิตยางพาราแหล่งใหญ่ของสงขลา
10. อำเภอสิงหนคร : “ทะเลคู่ตระการ น้ำตาลเลิศรส เรืองยศวัฒนธรรม หัตถกรรมล้ำค่า เมืองท่าแดนใต้” ด้วยที่ตั้งบนคาบสมุทรสทิงพระแหล่งปลูกตาลโตนดที่สำคัญของจังหวัด อ.สิงหนคร จึงเป็นอีกหนึ่งแหล่งเพาะปลูก และแปรรูปผลผลิตจากตาลโตนดที่มีคุณภาพไม่เป็นรองใคร
11. อำเภอหาดใหญ่ : “ชุมทางปักษ์ใต้ หลากหลายเศรษฐกิจ ชีวิตอุดม รื่นรมย์ธรรมชาติ ชายหาดแหลมโพธิ์ ส้มโอสีชมพู คู่คลองอู่ตะเภา ขุนเขาโตนงาช้าง” ส้มโอสีชมพู หรือส้มโอหอมควนลัง คือพืช GI ของจังหวัดสงขลา เป็นส้มโอพันธุ์พื้นเมืองที่มีความโดดเด่น ทั้งสีสันที่ออกแดงอมชมพู ไม่มีเมล็ด รสหวานอมเปรี้ยว และมีกลิ่นหอม เป็นความโดดเด่นของพันธุ์พืช ผืนดิน และภูมิปัญญาเกษตร
__
หากพิจารณาให้ลึกลงไปกว่าความเป็น Branding ‘ของดี’ เบื้องหลังและเส้นทางสู่การได้รับการยอมรับ คือการลองผิดลองถูก การสั่งสมประสบการณ์ ตกตะกอนเป็นองค์ความรู้ที่นำพาไปสู่การพัฒนาผลผลิตที่มีคุณภาพที่ดีที่สุด เป็นมรดกที่ส่งมอบอย่างภาคภูมิใจให้คนรุ่นถัดไปได้ใช้สอย และเชื้อเชิญให้ขบคิดต่อยอดให้วัตถุดิบประจำท้องถิ่น ยังคงรักษาคุณภาพ และเพิ่มพูนมูลค่าต่อไป