เมืองสร้างสรรค์ และ เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก กลายเป็นเทรนด์ที่หลายๆเมืองทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศต่างช่วยกันผลักดัน หลากหลายเมืองทั่วโลกประสบผลสำเร็จกลายเป็น ‘เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก’ ในขณะที่หลายเมืองไม่สามารถผ่านการพิจารณาเข้าเป็นสมาชิกเครือข่าย อะไร คือ ปัจจัยสำคัญของความล้มเหลว?
เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ได้กำหนดกระบวนการพิจารณาเข้าสมัครเป็นสมาชิกไว้ทุก 2 ปี และกำหนดให้เมืองที่มีความสนใจกรอกเอกสารใบสมัคร โดยนอกเหนือจากรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับ ความโดดเด่นของเมืองในด้านที่นำเสนอภายใต้ 7 สาขา โอกาส กลยุทธ์การพัฒนา และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระดับชาติและระดับนานาชาติ การเปรียบเทียบสินทรัพย์ของเมืองที่ต้องแสดงให้เห็นถึงความสร้างสรรค์และตอบโจทย์การเป็นสมาชิกเครือข่ายฯ อีกปัจจัยที่สำคัญ คือ แผนและโครงสร้างการทำงานเพื่อตอบสนองต่อพันธกิจการเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับกระบวนการเชิงนโยบาย งบประมาณ และการบริหารจัดการเมือง
_________________
ทำความเข้าใจ ‘ความหมายของเมืองสร้างสรรค์ และ เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก’
ความหมายของ เมืองสร้างสรรค์ (Creative Cities): หมายถึง ศูนย์กลางเมืองที่ใช้ประโยชน์จากความคิดสร้างสรรค์และวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การทำงานร่วมกันทางสังคม และการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ความหมาย เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network : UCCN): หมายถึง เครือข่ายเมืองระดับโลกที่ได้รับการยอมรับจากยูเนสโก โดยมีคำมั่นสัญญาในการส่งเสริมอุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์และวัฒนธรรม
พันธกิจเครือข่ายสมาชิกเมืองสร้างสรรค์โดยองค์การยูเนสโก มีอะไรบ้าง
พันธกิจเครือข่ายสมาชิกเมืองสร้างสรรค์โดยยูเนสโก หรือ UCCN มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือกับเมืองต่างๆ ที่นำความคิดสร้างสรรค์ (creativity) เป็นปัจจัยเชิงกลยุทธ์การพัฒนาที่ยั่งยืนในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ด้วยการเข้าร่วมเครือข่าย เมืองต่างๆ จำเป็นต้องมีความมุ่งมั่นในการแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด (best practice) ในการพัฒนาความร่วมมือที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมวิถีชีวิตทางวัฒนธรรม และบูรณาการวัฒนธรรมในแผนการพัฒนาเมือง โดยประเทศเครือข่ายสมาชิกต้องมุ่งเน้นการปฏิบัติที่สนับสนุนกรอบการทำงานของสหประชาชาติ
___________________
ในปี พ.ศ. 2560 ยูเนสโกได้เผยแพร่เอกสาร UNESCO CREATIVE CITIES NETWORK (UCCN) “BUILDING A COLLECTIVE VISION FOR THE FUTURE” STRATEGIC FRAMEWORK โดยมีสาระสำคัญในการกำหนดกรอบการทำงานเชิงกลยุทธ์ คือ “การสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกันเพื่อสนับสนุนให้วัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์สามารถช่วยพัฒนาเมืองได้ และเพื่อให้การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ทั่วโลกเดินหน้าร่วมกันในการสร้างความยั่งยืน” ซึ่งหัวใจสำคัญประกอบไปด้วย 1) การสร้างระบบการทำงานและบริหารจัดการเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ทั่วโลก (committe to the development of the network) ผ่านความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเพื่อร่วมกันผลักดันด้านนโยบาย มาตรฐาน และแนวทางในการดำเนินงาน 2) การดึงดูดและขยายเครือข่ายเพื่อเป็นแหล่งนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับนโยบายพัฒนาเมืองที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมด้านวัฒนธรรม (culture-engaged urban policies) และ 3) การสร้างพันธกิจใหม่และการปรับโฉมกลไกในการกำกับดูแล (governance mechanism) ส่งผลให้หลังจากปี พ.ศ. 2560 เมืองที่มีต้องการสมัครเข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายจำเป็นต้องนำเสนอข้อมูล แผน นโยบาย และโครงสร้างกระบวนการทำงาน เพื่อตอบสนองกระบวนการทำงานเชิงกลยุทธ์ดังกล่าว
จากการดำเนินงานเบื้องต้นภายใต้โครงการฯ พบว่า ปัจจัยสำคัญในการออกแบบโครงสร้างการบริหารจัดการองค์กรเพื่อขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ คือ การพิจารณาผ่านหน้าที่ พันธกิจ นโยบาย และแผนการดำเนินงาน เมื่อพิจารณาในบริบทประเทศไทย พบว่า มีหน่วยงานและองค์กรที่ทำหน้าที่ในการรับผิดชอบ สนับสนุน และส่งเสริมกระบวนการเข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ประกอบด้วย
- หน่วยงานนานาชาติที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในประเทศไทย อาทิ The UNESCO Regional Office in Bangkok
- หน่วยงานภาครัฐ (ระดับกระทรวง) อาทิ National Commission of UNESCO ประเทศไทย
- หน่วยงานรัฐระดับท้องถิ่น อาทิ สำนักงานจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด และ เทศบาล
- หน่วยงานสนับสนุน อาทิ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. และ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)
โดยสรุป จากการพิจารณาตามพันธกิจ วิสัยทัศน์ และเป้าประสงค์ของหน่วยงานข้างต้นพบ ความเชื่อมโยงของเป้าหมายในการเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์อยู่ภายใต้คำสำคัญ ประกอบด้วย วัฒนธรรม การท่องเที่ยว การประชุมนานาชาติ และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยสามารถแยกกลุ่มได้ดังนี้
ด้านวัฒนธรรม UNESCO Regional Office in Bangkok และ คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (Thai National Commission for UNESCO) ประเทศไทย มุ่งเน้นการขับเคลื่อนการเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกผ่านการรักษาวัฒนธรรมระดับชาติและนานาชาติ
ด้านการท่องเที่ยว อ้างอิงตามกรอบนโยบายและแผนของสำนักงานจังหวัดภายใต้การพัฒนา ส่งเสริมการท่องเที่ยว การกีฬา และบริการที่มีคุณภาพได้มาตรฐานโดยมีเลขานุการ คือ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด พร้อมทั้งมีการประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนหลายจังหวัดเป็นเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UNESCO) ในบางพื้นที่มีการทำงานเชื่อมโยงกับการทำงานร่วมกับ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) ที่ทำหน้าที่ส่งเสริม และพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในเชิงบูรณาการระหว่างวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวในขณะที่องค์การปกครองระดับท้องถิ่นอย่างองค์การส่วนบริหารจังหวัด
ด้านการประชุมนานาชาติ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) มุ่งเป้าการพัฒนาศักยภาพการประชุมของกลุ่มองค์กรหรือการ ประชุมวิชาชีพ และการแสดงสินค้านานาชาติ หรือที่เรียกว่าอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) โดยมีมองเห็นการขับเคลื่อนการเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์เป็นวาระหนึ่งในการขับเคลื่อนระดับนานาชาติ
ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) มุ่งเป้าในส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของทุนวัฒนธรรมและเมืองสร้างสรรค์ โดยกำหนดตัวชี้วัดชัดเจนภายในปี พ.ศ. 2570 มีตัวชี้วัดหลัก คือ จำนวนเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก เพิ่มขึ้น 2 เมือง
คำถามสำคัญจากนี้ คือ แต่ละเมืองที่มีความพยายามผลักดันการเข้าสู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ควรออกแบบแผนและโครงสร้างการทำงานเพื่อตอบสนองต่อพันธกิจการเป็นสมาชิกเครือข่ายอย่างไรให้เหมาะสม เพราะการเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก มิใช่ รางวัล แต่เป็น ‘คำมั่นสัญญา’ ที่เมืองมีต่อเครือข่ายทั่วโลก ที่นอกเหนือจากการตอบพันธกิจแล้ว ยังจำเป็นต้องตอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และ MONDIACULT หรือ ปฏิญญาด้านวัฒนธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืนของยูเนสโก อีกด้วย
หมายเหตุ
- 7 สาขา ได้แก่การออกแบบ งานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ภาพยนตร์ วิทยาการด้านอาหาร ดนตรี วรรณกรรม และสื่อศิลปะ
- ยูเนสโก (UNESCO) หรือ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ) ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานเฉพาะทางของสหประชาชาติที่ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ความร่วมมือด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม และการสื่อสาร โดยประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกองค์การยูเนสโกเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2492 นับเป็นประเทศ สมาชิกลำดับที่ 49 และคณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (National Commission for UNESCO) เพื่อให้เป็นไปตามกฎบัตรของ ยูเนสโก โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นรองประธาน และรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ฝ่ายการต่างประเทศ) เป็นเลขาธิการ วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2492 มีการจัดตั้งสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานประสานงานแห่งชาติกับยูเนสโก ใน 6 ด้านได้แก่ การศึกษา วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ วัฒนธรรม การสื่อสารและ สารสนเทศ ด้านสุดท้ายเป็นหัวข้อพิเศษ ในทางปฏิบัติมีการแต่งตั้งคณะกรรมการฝ่าย ต่าง ๆ เพื่อปฏิบัติงาน เฉพาะด้านตามภารกิจและความชำนาญ
อ้างอิง
https://www.un.org/esa/socdev/rwss/2016/chapter1.pdf
https://www.bic.moe.go.th/index.php/pages/unesco/blog/new-30-5-2566